พิพิธภัฑณ์วัดนาปัง


         วัดนาปัง ตั้งอยู่กลางหมู่บ้านนาปัง หมู่ ๒ ตำบลนาปัง  อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ในอดีตเป็นวัดของคณะศรัทธาบ้านนาปัง เมื่อบ้านนาปังได้แบ่งแยกเป็น ๒ หมู่บ้าน คือ บ้านนาปังและบ้านสบแก่น วัดนาปังจึงเป็นวัด ๒ คณะศรัทธาบ้านนาปังและบ้านสบแก่น ซึ่งในครั้งยังไม่แบ่งเป็น ๒ หมู่บ้าน บ้านนาปังจึงถือว่าเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ติดกับแม่น้ำน่าน และสาเหตุให้บ้านนาปังมีเรือแข่ง

         ผมจะเล่าประวัติโดยสังเขปของวัดนาปัง ในสมัยสุโขทัยมีครั้นเวลาหนึ่งที่น่านถูกข้าศึกโจมตี เจ้าผู้ครองนครน่านจึงได้มาลี้ภัยและก่อตั้งหมู่บ้านนาปังที่นี่ขึ้น จากนั้นก็ได้สร้างวัดนาปังขึ้นมา เมื่อศึกสงบแล้วเจ้าผู้ครองนครน่านก็ได้กลับไปยังเมืองน่านดังเดิม หลังจากนั้นก็มีการบูรณปฏิสังขรณ์วิหารวัดนาปังครั้งใหญ่อยู่ ๒ ครั้ง คือครั้งที่ ๑ เจ้าอนันตวรฤทธิ์เดชผู้ครองนครน่านได้ทรงนำช่อฟ้าวิหาร ๔ ช่อมาปฏิสังขรณ์วัด ปัจจุบันช่อฟ้าดังกล่าวได้เปลี่ยนใหม่ และนำช่อฟ้าวิหารเก่ามาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดนาปัง และการปฏิสังขรณ์ใหญ่ครั้งที่ ๒ เป็นการลื้อเอาวิหารเก่าออกแล้วสร้างใหม่ เนื่องด้วยวิหารเก่าชำรุดมากแล้ว ภายในวิหารประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะแบบสุโขทัยประมาณอายุได้มากกว่า ๔๐๐ ปี เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ และมีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางลีลาอีก ๒ องค์อยู่ด้านซ้าย ๑องค์ และด้านขวา ๑ องค์ ลักษณะของพระพุทธรูปปางลีลานี้คล้ายกับพระพุทธรูปคู่ปางลีลา ค่าควรเมือง ที่วัดพญาภู อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ซึ่งจะพบพระพุทธรูปนี้เพียง ๒ วัดนี้เท่านั้นในจังหวัดน่าน จากการสันนิษฐานพบว่าพระพุทธรูปคู่ปางลีลา ค่าควรเมือง ที่วัดพญาภูมีอายุมากกว่า ๔๐๐ ปี จึงทำให้ทราบว่าพระพุทธรูปปางลีลาที่วัดนาปังมีอายุประมาณ ๔๐๐ ปี

                                                                                 พระพุทธรูปคู่ปางลีลา


พระประธาน

           หอธรรมที่วัดนาปัง 


           สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช ๒,๔๐๐ หอธรรม เป็นอาคารสี่เหลี่ยมทรงสูง  ใต้ถุนโปร่ง  มีเสาขนาดใหญ่บนฐานสี่เหลี่ยม  ก่ออิฐถือปูนจำนวน  ๑๖ ต้น  ตั้งอยู่บนฐานปัทม์  ฝาทำด้วยไม้  มีคันทวยไม้แกะสลักรองรับชายคา  ด้านละ  ๔  อัน หลังคาจั่วลดชั้นแบบปั้นหยา มีช่อฟ้าใบระกา  เป็นที่เก็บคัมภีร์ใบลาน โดยภายในมีหีบธรรม ๑๓ หีบ มีคัมภีร์ใบลานทั้งหมด ๓,๐๐๐ ผูก อักษรล้านนาและตั๋วเมืองในคัมภีร์ใบลานของวัดนาปังมีความสวยงามมากที่สุดของภาคเหนือ (ผมก็ได้ศึกษาสามารถอ่านออก-เขียนได้ แต่ลายมือก็ไม่ค่อยสวยเท่าไหร่นัก พอไปวัดไปวากับเขาได้) จึงได้ยึดถือเป็นแบบอย่าง ปัจจุบันคัมภีร์ใบลานบางส่วนถูกนำไปเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัย และได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมศิลปากรแล้ว
           โฮงครูบาบุญศรี(พิพิธภัณฑ์วัดนาปัง) อดีตเป็นกุฏิพระ สร้างโดยครูบาบุญศรี อินทรสาโร เจ้าอาวาสวัดนาปังในสมัยนั้น ครูบาบุญศรีท่านเป็นหลานของครูบาวัง ครูบาบุญศรีท่านเก่งอยู่หลายเรื่องทั้งความสามารถช่างไม้ของท่าน โดยเฉพาะหัวเรือบ้านนาปัง และลายสาหร่ายรวงผึ่งที่เก็บไว้เป็นที่ระลึกถึงกุฏิหลังเก่าซึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ลายสาหร่ายรวงนี้ครูบาศรีเป็นผู้ออกแบบเอง ทั้งในเรื่องวิชาอาคมเป็นที่เรื่องลือประจักษ์แก่สายตาชาวบ้านมามาก และท่านก็ได้รวบรวมกำลังชาวบ้านช่วยกันสร้างกุฏิหลังใหม่ขึ้นแทนหลังเดิมที่เป็นกุฏิไม้ ตามคำจารึกบนฝาผนังว่า พระบุญศรีพร้อมด้วยศรัทธาทุ้กชายหญิงได้สร้างตึกหลังนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ สำเร็จแล้วไน พ.ศ. ๒๔๙๐ เดือน ๘ น่านแรม ๓ค่ำวันจันทร์ได้ถวายทานให้แก่พระสงฆ์ ๕๐ รูป เป็นการเสร็จกำหนดรวมเงินสร้าง ๖,๐๐๐ บาท รวมปูนขาว ๑๓ ล้าน สร้างศาลาบาตรในพ.ศ.๘๗ รวมก้อนอิฐ ๘ หมื่น สร้างพระพุทธรูปทันไจเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ เดือน ๕ น่าน ขึ้น ๑๕ ค่ำ วันพุทธจากจารึกทำให้ทราบว่าโฮงครูบาสร้างพ.ศ. ๒๔๘๙ และแล้วเสร็จในปีพ.ศ. ๒๔๙๐ และทำให้ทราบถึงพระพุทธรูปทันใจว่าสร้างในวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ น่าน พ.ศ. ๒๔๘๙
                                  จารึกบนฝาฝนังโฮงครูบาบุญศรี
           พระพุทธรูปทันใจ หรืออีกชื่อหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกกันคือ พระเจ้าทันใจ เป็นพระพุทธรูปที่มีวิธีสร้างแบบพิเศษกว่าพระพุทธรูปแบบอื่นๆคือ เป็นพระพุทธรูปที่ต้องสร้างเสร็จในวันเดียว โดยเริ่มนับเวลา ๐ นาฬิกาของวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ น่าน พ.ศ. ๒๔๘๙ จะมีการตีระฆังบอกเวลาเริ่ม จากนั้นก็เริ่มสร้างพระพุทธรูปกันเลย โดยมีการปั่นด้ายสายสิญจน์ สร้างองค์พระ ทำข้าวมธุปายาส และพิธีกรรมอื่นๆอีกมากมาย พอเวลา ๒๔ นาฬิกาวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ น่าน พ.ศ. ๒๔๘๙ ก็จะมีเสียงระฆังอีกครั้งบอกว่าพระพุทธรูปทันใจสร้างเสร็จแล้ว ดังนั้นในวัดนาปังจึงมีงาน ๕ เป็งปิดทองพระเจ้าทันใจวัดนาปัง  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้  ตามความเชื่อที่ถือกันมา พระพุทธรูปทันใจนี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือมาก เพราะชาวบ้านเชื่อว่าถ้าขอพรแล้วพรจะสำเร็จผลได้รวดเร็วทันใจ เช่นเดียวกันกับชื่อพระพุทธรูปที่ว่า ทันใจ


       กลับมาที่โฮงครูบาบุญศรี ปัจจุบันได้เป็นพิพิธภัณฑ์วัดนาปัง โดยตัวพิพิธภัณฑ์ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรไว้แล้ว สำหรับวัตถุจัดแสดงที่จัดแสดงไว้ภายในพิพิธภัณฑ์ โดยจัดแสดงเป็น ๒ ส่วน คือ ชั้นล่างและชั้นบน ชั้นล่างจัดแสดงวัตถุจัดแสดงจำพวกเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ในครัวเรือน ในห้องครัว ในการประกอบอาชีพ เครื่องดนตรี มีทั้งเครื่องมือในการทอผ้า เครื่องมือทางการเกษตร ฯลฯ ซึ่งปัจจุบัน เครื่องมือส่วนใหญ่เหล่านั้นไม่ถูกนำมาใช้แล้ว บางชิ้นผมยังไม่เคยเห็น สงสัยว่าผมคงเกิดไม่ทัน สำหรับชั้นบนมี ๒ ห้อง ห้องหนึ่งจัดแสดงหัวเรือ ๓ หัว หางวรรณ ๑ หาง ช่อฟ้าวิหารเก่า ๔ ช่อ และอื่นๆ ส่วนอีกห้องเป็นห้องพระจัดแสดงคัมภีร์ใบลานบางส่วน วัตถุมงคล ชิ้นส่วนกุฏิหลังเก่า รูปครูบาบุญศรี รูปครูบาวัง และอื่นๆ บนฝาผนังห้องนี้มีคำจารึกดังกล่าวมาในข้างต้น








โดย ฟลุ๊ค : ยุวมัคคุเทศก์พิพิธภัณฑ์วัดนาปัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น