นิยาม “ผี” ผี คือ อะไร ?

นิยาม “ผี” ผี คือ อะไร ?
            จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายผีไว้ว่าดังนี้ “ผี” น. สิ่งที่มนุษย์เชื่อว่าเป็นสภาพลึกลับ มองไม่เห็นตัว แต่อาจจะปรากฏเหมือนมีตัวตนได้อาจให้คุณหรือโทษได้ มีทั้งดีและร้าย เช่น ผีปู่ย่าตายาย ผีเรือน ผีห่า เรียกคนที่ตายไปแล้ว
            ตามความเชื่อและบันเทิงคดีแต่โบราณ ผี (อังกฤษ: ghost) เป็นวิญญาณ (soul) หรือสปิริต (spirit) ของคนหรือสัตว์ที่ตาย ซึ่งสามารถปรากฏให้คนเป็นเห็นได้ ไม่ว่าจะในรูปที่มองเห็นได้หรือสำแดงออกมาในรูปอื่น รายละเอียดการปรากฏตัวของผีมีหลากหลายมากตั้งแต่การแสดงตนแบบมองไม่เห็น ปรากฏเป็นรูปร่างบอบบางที่โปร่งแสงหรือแทบมองไม่เห็น ไปจนถึงการเห็นภาพสมจริงดุจมีชีวิต
            ความเชื่อในการแสดงตนของวิญญาณผู้ตายนั้นมีแพร่หลาย ย้อนไปตั้งแต่วิญญาณนิยมหรือการบูชาบรรพบุรุษในวัฒนธรรมก่อนรู้หนังสือ หลักในบางศาสนา เช่น พิธีกรรมงานศพ พิธีไล่ผี หลักเจตนิยมบางประการและเวทมนตร์ ได้รับการออกแบบมาเพื่อปลอบวิญญาณของผู้ตายให้สงบโดยเฉพาะ ผีมักได้รับการอธิบายว่า เป็นสิ่งที่อยู่โดดเดี่ยวซึ่งสิงสู่ในสถานที่ วัตถุหรือบุคคลหนึ่ง ๆ ที่ผีผูกพันยามมีชีวิตอยู่
            จอห์น เฟอร์เรียร์ แพทย์ชาวสกอต เขียน An essay towards a theory of apparitions (ความเรียงว่าด้วยทฤษฎีการปรากฏตัวของผี) ใน ค.ศ. 1813 ซึ่งเขาแย้งว่า การพบเห็นผีเป็นผลมาจากภาพลวงตา ภายหลัง แพทย์ชาวฝรั่งเศส Alexandre Jacques François Brière de Boismont ตีพิมพ์ On Hallucinations: Or, the Rational History of Apparitions, Dreams, Ecstasy, Magnetism, and Somnambulism (ว่าด้วยประสาทหลอน: หรือประวัติศาสตร์ผี ความฝัน ปิติสานติ์ อำนาจแม่เหล็กและอาการละเมอเดินถูกเหตุผล) ใน ค.ศ. 1845 ซึ่งเขาอ้างว่า การพบเห็นผีเป็นผลมาจากประสาทหลอน
            Joe Nickell แห่ง Committee for Skeptical Inquiry เขียนว่า ไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือว่ามีสถานที่ซึ่งมีวิญญาณของผู้ตายอาศัยอยู่ ความบกพร่องของสัญชานมนุษย์และคำอธิบายทางกายภาพตามปกติสามารถเป็นเหตุผลของการพบเห็นผีได้ ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงความดันอากาศในบ้านทำให้ประตูกระแทกปิดเสียงดัง หรือแสงไฟจากรถยนต์ที่ผ่านไปมาสะท้อนผ่านกระจกในยามค่ำคืน พาเรียโดเลีย (Pareidolia) การโน้มเอียงโดยกำเนิดที่จะยอมรับรูปแบบในสัญชานสุ่ม เป็นสิ่งที่ผู้กังขาเชื่อว่าทำให้คนเชื่อว่าตนเอง "เห็นผี" สำหรับรายงานของผี "โผล่ออกมาจากมุมตา" อาจอธิบายได้ว่า เป็นความว่องไวของการมองภาพด้านข้างของมนุษย์ ตามข้อมูลของ Nickell การมองภาพด้านข้างสามารถทำให้หลงผิดได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลางดึกเมื่อสมองอ่อนล้าและมีแนวโน้มตีความภาพและเสียงอย่างผิด ๆ
            นักวิจัยบางคน อาทิ Michael Persinger แห่งมหาวิทยาลัยลอเรนเทียน ประเทศแคนาดา สังเกตว่า ความเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กโลก (ซึ่งถูกสร้างขึ้นได้จากความเครียดเทคโทนิกส์ในเปลือกโลกหรือกิจกรรมของดวงอาทิตย์ เป็นต้น) สามารถกระตุ้นสมองกลีบขมับ และสร้างประสบการณ์จำนวนมากซึ่งเชื่อมโยงกับสิ่งที่อยู่ในความทรงจำ คาดกันว่า เสียงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการพบเห็นที่ทึกทักว่าเป็นจริง Richard Lord และ Richard Wiseman ได้สรุปว่า อินฟราซาวน์สามารถทำให้มนุษย์ประสบความรู้สึกแปลก ๆ ในห้องได้ เช่น ความกังวล ความโศกเศร้าอย่างยิ่ง ความรู้สึกว่ากำลังถูกมอง หรือกระทั่งอาการหนาวสะท้าน มีคำอธิบายบ้านผีสิงที่เป็นไปได้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1921 ว่า การได้รับพิษคาร์บอนมอนออกไซด์สามารถทำให้การรับรู้ของระบบตาและหูเปลี่ยนไปได้

นิยาม "ผี" โดย ศาสตราจารย์แมกซ์ มูลเลอร์
(ศาสตราจารย์แมกซ์ มูลเลอร์)
            ในภาษาทมิฬมีคำว่า เปย์แปลว่า ผี คำนี้เห็นจะเป็นการประจวบ คงจะไม่ใช่เป็นคำเดียวกับผีในภาษาไทย เพราะเปย์นั้น ศาสตราจารย์แมกซ์ สมูลเลอร์ กล่าวว่าเป็นคำสันสกฤตมาจากธาตุคือคำที่เป็นตัวตั้งว่า ปียะ ปียนฺต แปลว่าเกลียดทำลาย ตรงกับคำว่า "Fiend" ซึ่งแปลว่า ผีร้าย
            ในภาษาอังกฤษและในภาษากอธิกซึ่งเป็นภาษาเยอรมันโบราณ พวกหนึ่งว่า Fiyand ดังนี้คำว่า เปย์ จึงไม่ใช่คำเดียวกับคำว่าผี เพราะผีของเราในชั้นเดิมมีความหมายเป็นกลางๆ และคงเป็นคำที่ใช้แทนเทวดา ซึ่งเราคงได้รับมาจากภาษาบาลีในตอนที่เราได้รับพระพุทธศาสนาแล้ว
            อ้างอิง : Max Muller ศาสตราจารย์แมกซ์ มูลเลอร์ :ศาสตราจารย์ทางนิรุกติศาสตร์ชาวเยอรมันผู้นำในการศึกษาความรู้ เกี่ยวกับตะวันออก ท่านเป็นคนแรกที่ได้จุดประทีปขึ้น ให้ชาวยุโรปทั้งหลายมองเห็นความดีงาม และความลึกซึ้งของพระพุทธศาสนา ท่านได้แปลคาถาธรรมบทเป็นภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์ครั้งแรก “ประมวลศีลธรรมของพระพุทธเจ้า สมบูรณ์มากที่สุดที่โลกเคยรู้จักมา” Max Mulle

นิยาม "ผี" โดย พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์
(พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์)
พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ได้ทรงนิพนธ์ไว้ว่า
            “นามศัพท์อย่างหนึ่ง คนทั้งปวงเรียกว่าผี ผีนี้เป็นอัศจรรย์นัก แต่ในนี้เราจะแยกคำที่ว่าผี หรือสิ่งที่เป็นผีนั้นเสียก่อน เรียกผีมี ๒ อย่างคือ ผีมีตัว ผีไม่เห็นตัว ผีมีตัวได้แก่ผีต่างๆ คือ ผีเรือน ผีป่า ผีโขมด ผีอะไรๆไม่เห็นตัวที่กลัวกันนั้นแล เจ้าผีที่มีตามศาลซึ่งเรียกว่าเทพารักษ์ หรือเทวดานพเคราะห์อะไรๆทั้งหมดนี้ ควรนับว่าผีไม่เห็นตัว เพราะไม่ใคร่จะมีใครเห็นที่ที่ประชุมชนมากๆนั้น จึงเรียกว่าผีไม่เห็นตัวอีกอย่างหนึ่ง
            ผีทั้งสองอย่างนี้ มักใช้ถ้อยคำของคนทุกภาษา ทุกศาสนาเป็นที่นับถือบ้าง กลัวบ้าง มีอาการต่างๆประเภทต่างๆ ดังจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า แต่ชาติใดจะนับถือเชื่อฟังในเรื่องผีนี้ยิ่งกว่าชาติจีนต่างๆ แลพวกลาวพุงขาว พุงดำซึ่งเป็นชาติที่ตั้งอยู่ในทิศตะวันออก แลทิศเหนือของเรานั้นเป็นไม่มี
            แต่ถึงอย่างไรก็ดี คงมีคนมี่ไม่เชื่อถือผี ไม่กลัวผีนั้นเป็นอยู่แทบทุกชาติเหมือนกัน แต่คนที่ไม่เชื่อผีนั้น เป็นคนที่ได้เล่าเรียนทางพระพุทธศาสนา ได้พิจารณาการอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แบ่งขันธ์ แบ่งธาตุบ้างเป็นคนที่ได้เล่าเรียนตามนักปราชญ์เบื้องอัษฎงคต ได้เห็นการใดก็พิจารณาละเอียดแล้วจึงเชื่อนั้นบ้างรวมความลงแล้ว คนพวกใดที่ไม่มีปัญญาตรองละเอียดในการทุกอย่างแลมีสติวิจารณ์ให้เห็นแท้แล้ว ก็ไม่ใคร่จะเชื่อถือเรื่องผีนี้นัก ยกไว้แต่คนที่เชื่อแต่คำเล่าลือต่างๆ คำบุราณๆ แล้วไม่ตรองด้วยปัญญาตน ไม่พิจารณาให้ละเอียดแล้ว มักจะเชื่อเรื่องผีนี้โดยมาก
            อ้างอิง : หนังสือว่าด้วยอำนาจผีแลผีหลอก ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ พระราชโอรสพระองค์ที่ ๖๐ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(ร.๔)

นิยาม "ผี" โดย พระอมรฤดี
(หนังสืออำนาจดวงจิตต์)
            พระอมรฤดี ( นารถ บุณยเกียรติ ) เป็นข้าราชบริพารใน ร.๖ ที่ใกล้ชิดและรู้เรื่องของท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ราชมานิต ธมฺมวิตโก ภิกขุ วัดเทพศิรินทราวาส เป็นอย่างดี พระอมรฤดีเป็นผู้ที่สนใจฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับอำนาจทางจิต และได้แต่งตำราทางจิต และวิญญาณมากมาย โดยเฉพาะหนังสือ อำนาจดวงจิตต์
            “วิญญาณของมนุษย์เราจะออกจากร่างได้ก็ต่อเมื่อสิ้นลมปราณแล้ว กล่าวคือเมื่อถึงแก่ความตายอย่างหนึ่ง วิญญาณนี้เรามักเรียกกันว่า เจตภูต ส่วนฝรั่งเห็นจะตรงกับคำว่า แอสตรอลบอดี้ (Astral Body) เจตภูตของเรานี้เมื่อออกจากร่างเดิมแล้ว อาจจะไปสำแดงร่างให้ผู้อื่นเห็นในที่ใดๆได้ ที่เราเรียกกันว่า ผีหลอก
            เจตภูตจำพวกนี้เป็นพวกที่ไม่มีที่อาศัย จึงจำเป็นต้องเที่ยวเพ่นพ่านวนเวียนอยู่ก่อน จนกว่าจะพบที่อยู่ ร่างกายของเราก็คือสถานที่พักของเจตภูตนั่นเอง เมื่อสถานที่พักทำลายลง กล่าวคือธาตุทั้ง ๔ ในร่างกายได้ดับสิ้นไป หมายความว่าถึงอวสานแห่งชีวิตแล้ว เจตภูตจำเป็นต้องออกไปหาที่อาศัยแห่งอื่นต่อไป จนกว่าจะสิ้นเวร สิ้นกรรม
อีกอย่างหนึ่งวิญญาณของมนุษย์เราออกจากร่างเมื่อเวลาที่เรานอนหลับสนิท เราฝันเห็นอะไรต่างๆนั้นคือวิญญาณหรือเจตภูตออกจากร่างไปประสบสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามเรื่องที่เราฝันนั้นเอง วิญญาณที่ออกจากร่างโดยทำนองนี้ จะกลับคืนสู่ร่างในขณะที่เราตื่นขึ้น
            บางทีเราตื่นขึ้นด้วยความตระหนกตกใจ เช่น มีใครมาปลุกให้ตื่นโดยความรีบร้อน หรือโดยเหตุเอ๊กซิเด็นต่างๆเหล่านี้ พวกนักปราชญ์ในทางนี้เขาอธิบายว่า ในร่างกายของเรานั้น มีสายใยโยงติดต่อกันกับวิญญาณ และดึงดูดเอาดวงวิญญาณหรือเจตภูตให้เข้ามาสู่ร่างกายโดยทันที ความดึงดูดที่กำลังเร็วเช่นนี้ จึงมักจะกระทำให้ใจคอเราสั่นไปนานๆ ก็เพราะเหตุที่วิญญาณถูกบังคับให้มาโดยด่วนนั่นเองพระอมรฤดีได้เขียนบรรยายไว้
            อ้างอิง : อำนาจดวงจิตต์ (WILL POWER) ภาคพิเศษ พระอมรฤดี เรียบเรียง


นิยาม "ผี" โดย พ่อขุนรามคำแหง
(ศิลาจารึกหลักที่ 1)
"เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีพระขะพุงผี เทพดาในเขาอันนั้นเป็น
ใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ว ไหว้ดีพลีถูก
เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดีพลีบ่ถูก ผีในเขาอันบ่คุ้มบ่เกรง เมืองนี้
หาย" ศิลาจารึก พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

แปลเนื้อความ หลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ จารึกด้านที่ ๓ : ๑๐ บรรทัดแรก
บรรทัดที่ 1 : (งแฏ่)ง เบื๋องตีนนอนเมืองสุโขไทนี๋มีตลาดป
บรรทัดที่ 2 : สาน มีพระอจน มีปราสาท มีป่าหมาก
บรรทัดที่ 3 : พร๋าว ป่าหมากลาง มีไร่มีนา มีถิ่นถ๋าน มีบ๋านใหญ่บ๋านเล็ก เบื๋
บรรทัดที่ 4 : องหววนอนเมืองสุโขไทนี๋ มีกุดีพิหารปู่ครู
บรรทัดที่ 5 : อยู่ มีสรีดภงส มีป่าพร๋าวป่าลาง มีป่าม่วงป่าขาม
บรรทัดที่ 6 : มีน๋ำโคกมีพระขพุง ผีเทพดาในเขาอนนน๋นน
บรรทัดที่ 7 : เปนใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี๋ ขุนผู๋ใดถืเมือง
บรรทัดที่ 8 : สุโขไทนี๋แล๋ ไหว๋ดีพลีถูก เมืองนี๋ท่ยง
บรรทัดที่ 9 : เมืองนี๋ดี ผิไหว๋บ่ดีพลีบ่ถูก ผีในเขาอนนบ่
บรรทัดที่ 10 : คุ๋มบ่เกรง เมืองนี๋หาย...............

ถอดความเป็นภาษาไทยสมัยปัจจุบัน (โดยตรง)

เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีตลาดปสาน มีพระอจนะ มีปราสาท
ป่ามะลาง มีไร่มีนามีถิ่นฐาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้
มีกุฎี พิหาร ปู่ครู อยู่ มีสรีดภงส์ มีป่าพร้าว ป่าลาง มีป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก
มีพระขพุงผี เทวดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้
ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง
 เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ถูก พลีบ่ถูก ผีในเขาอันบ่คุ้ม บ่เกรง เมืองนี้หาย............

แปลจาก : หลักศิลาจารึกกรุงสุโขทัยหลักที่ ๑ แห่งพ่อขุนรามคำแหง


นิยาม "ผี" โดย ขงจื้อ
(ปรมจารย์ขงจื้อ)
            "จงเคารพผี แต่อยู่ให้ห่างไว้" ขงจื้อ
            " ผีแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ซึ่งมีอยู่ในตัวได้เหลือเฟือจริงหนอ เรามองหารูปภูตผีแต่ก็ไม่แลเห็นตัว เราฟังเสียงผีแต่ก็ไม่ได้ยิน ถึงกระนั้นผีผีย่อมเข้าแทรกสิงอยู่ทุกสิ่งทุงอย่างที่จะปราศจากผีไม่มี ผีเป็นเหตุให้ประชาชนในอาณาจักรต้องยึดถือศีลและชำระมลทิน ต้องสวมเสื้อผ้าอันงามที่สุด เพื่อไปกรพทำกิจพลีบูชา ดั่งนี้ผีก็เหมือนดั่งกระแสน้ำไหล ดูเหมือนผีอยู่ทั้งเบื้องบนเบื้องซ้ายและเบื้องขวาของผู้กระทำบูชา "
แปลจาก : Gile's The Religion of China Ancient
            อ้างอิงสำนวน : พระยาอนุมานราชธน


นิยาม "ผี" โดย ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน
ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ)

ผีในภาษาไทยสาขาต่างๆ ไม่ได้หมายความถึงผีร้ายที่มาหลอกหลอน
หรือแปลว่า ซากศพดังที่เข้าในกันในภาษาเรานั้น ในภาษาไทย อาหม
ผีแปลว่า เทวดา หรือจะแปลว่า ผี ในความหมายอย่างที่เราๆ เข้าใจกันก็ได้
หนึ่งในหลายคำอธิบายพระยาอนุมานราชธนได้อธิบายไว้
อ้างอิง : ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ)



            สุดท้ายนี้ ผี คือ อะไร? ทุกคนคงเข้าใจกันดีว่า ผี คือ อะไร ? 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น