ตำราสวัสดิรักษา โดย สุนทรภู่

                                                    ค สุนทรทำคำสวัสดิรักษา
ถวายพระหน่อบพิตรอิศรา             ตามพระบาฬีเฉลิมให้เพิ่มพูน

เป็นของคู่ผู้มีอิศริยยศ                     จะปรากฏเกิดลาภไม่สาบสูญ
สืบอายุสุริวงศ์พงศ์ประยูร              ให้เพิ่มพูนภิญโญเดโชไชย
ว่าลืมหลงจงอุตส่าห์รักษาสิริ         ตามคติโบราณท่านขานไข
ว่าเช้าตรู่สุริโยอโณไทย                 ตื่นนอนให้ห้ามโมโหอย่างโกรธา
ผินพักตร์สู่บูรพทิศ แลทักษิณ        เศกวารินด้วยพระธรรมคาถา
ที่นับถือคือพระไตรสรณา             ถ้วนสามคราจึงชำระสระพระพักตร์
แล้วเอื้อนอรรถตรัสความที่ดีก่อน  จะถาวรพูนเกิดประเสริฐศักดิ์
ด้วยราศีที่ชะลอนรลักษณ์               อยู่พระพักตร์แต่ทิวาเวลากาล
ยามกลางวันนั้นว่าพระราศี             สถิตที่วรองค์ให้สรงสนาน
พระอุระประสุคนธ์วิมลมาลย์        จะสำราญโรคาไม่ราคี
ครั้นพลบค่ำคล้ำฟ้าสุธาวาส           ฝ่ายเบื้องบาทซ้ายขวาเป็นราศี
จงรดน้ำชำระซึ่งราคี                      ห้ามสตรีอย่าให้พาดบาทยุคล
เสวยนั้นผันพระพักตร์ไปบูรพทิศ  เจริญฤทธิ์ชันษาสถาผล
แม้นผินพักตร์ทักษิณถิ่นมณฑล     ไม่ขาดคนรักใคร่เวียนไปมา
ทิศประจิมอิ่มเอมเกษมสุข              บรรเทาทุกข์ปรากฏด้วยยศถา
แต่ทิศเหนือเหลือร้ายวายชีวา        ทั้งชันษาซุดน้อยถอยทุกปี ฯ
ค อนึ่งนั่งบังคลอย่ายลต่ำ                         อย่าบ้วนน้ำลายพาเสียราศี
ผินพระพักตร์สู่อุดรประจิมดี         ไม่ต้องผีคุณไสยพ้นภัยพาล
แล้วสรงน้ำชำระพระนลาฏ            จึงผุดผาดผิวพรรณในสัณฐาน
เสด็จไหนให้สรงชลธาร                เป็นฤกษ์พารลูบใล้แล้วไคลคลา ฯ
ค อนึ่งพระองค์ทรงเจริญเพลินถนอม       อย่าให้หม่อมห้ามหลับทับหัตถา
ภิรมย์รสอตส่าท์สรงพระคงคา      เจริญราศีสวัสดิ์ขจัดภัย ฯ
ค อนึ่งวันชำระสระพระเกล้า                    อังคารเสาร์สิ้นวิบัติปัตไถม
ตัดเล็บวันพุธจันทร์กันจังไร           เรียนสิ่งใดวันพฤหัสสวัสดี ฯ
ค อนึ่งภูษาผ้าทรงณรงค์รบ                      ให้มีครบเครื่องเสร็จทั้งเจ็ดสี
วันอาทิตย์สิทธิโชคโฉลกดี            เอาเครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล
เครื่องวันจันทร์นั้นควรสีนวลขาว  จะยืนยาวชันษาสถาผล
อังคารม่วงช่วงงามสีครามปน       เป็นมงคลขัตติยาเข้าราวี
เครื่องวันพุธสุดสีด้วยสีแสด          กับเหลือบแปดปนประดับสลับสี
วันพฤหัสจัดเครื่องเขียวเหลืองดี    วันศุกร์สีเมฆหมอกออกสงคราม
วันเสาร์ทรงดำจึงล้ำเลิศ                  แสนประเสริฐเสี้ยนศึกจะนึกขาม
หนึ่งพาชีขี่ขับประดับงาม               ให้ต้องตามสีสรรพ์จึงกันภัย ฯ
ค อนึ่งว่าถ้าจะลงสรงสนาน                       ทุกห้วยธารเถื่อนถ้ำแลน้ำไหล
พระพักตร์นั้นผันล่องตามคลองไป ห้ามมิให้ถ่ายอุจาร์ปัสสาวะ
อย่าผินหน้าฝ่าฝืนขึ้นเหนือน้ำ         จะต้องรำเพรำพัดซัดมาปะ
เมื่อสรงน้ำสำเร็จเสร็จธุระ              คำนับพระคงคาเป็นอาจิณ ฯ
ค อนึ่งวิชาอาคมถมถนำ                            เวลาค่ำควรคิดเป็นนิจศีล
จึงศักดิ์สิทธิ์ฤทธิรนพ้นไพริน        ให้เพิ่มภิญโญยศปรากฏไป ฯ
ค อนึ่งสุนัขมักเฝ้าแต่เห่าหอน                  เพิ่มอย่าขู่ก่อนด่าว่าอัชฌาลัย
พิ่มเสียสง่าราศีมักมีภัย                   คนมิได้ยำเยงเกรงวาจา
อนึ่งเขฬะอย่าถ่มเมื่อลมพัด            ไปถูกสัตว์เสื่อมมนต์ดลคาถา
อนึ่งพบปะพระสงฆ์ทรงศีลา         ไม่วันทาถอยถดทั้งยศทรัพย์
อนึ่งอย่าด่าว่าแดดแลลมฝน           อย่ากังวลเร่งวันให้พลันดับ
เมื่อเช้าตรู่สุริยงจะลงลับ                จงคำนับสุริยันพระจันทร
อนึ่งเล่าเข้าที่ศรีไสยาสน์                อย่าประมาทหมั่นคำนับลงกับหมอน
เป็นนิรันดร์สรรเสริญเจริญพร       คุณบิดรมารดาคุณอาจารย์
ค อนึ่งผ้าทรงจงนุ่งเหน็บข้างขวา              กันเขี้ยวงาจรเข้เดรฉาน
อนึ่งอย่าไปใต้ช่องคลองตะพาน     อย่ารอดร้านฟักแฟงแรงราคี
ทั้งไม้ลำค้ำเรือนแลเขื่อนคอก        ใครลอดออกอัปลักษณ์เสียศักดิ์ศรี
ถึงฤทธิเดชเวทมนตร์ดลจะดี         ตัวอัปรีย์แปรกลับให้อัปรา
อนึ่งไปไหนได้พบอสภซาก           อย่าออกปากทักทายร้ายนักหนา
ให้สรงน้ำชำระพระพักตรา            ตามตำราแก้กันอันตราย ฯ
ค อนึ่งเครื่องผูกลูกสะกดตะกรุดคราด      เข้าไสยาสน์ยามหลับทับฉลาย
เครื่องอาวุธสุดห้ามอย่าข้ามกราย    อย่านอนซ้ายสตรีมักมีภัย
อนึ่งวันจันทร์คราสตรุษสารทสูรย์ วันเพ็ญบูรณ์พรรษาอัชฌาสัย
ทั้งวันเกิดเริดร้างให้ห่างไกล          ห้ามมิให้เสนหาถอยอายุ
แม้นสตรีมีระดูอย่าอยู่ด้วย              ถ้ามิม้วยก็มักเสียจักษุ
มักเกิดมีฝีพองเป็นหนองพุ              ควรทำนุบำรุงองค์ให้จงดี
ค อนึ่งนั้นวันกำเหนิดเกิดสวัสดิ์                อย่าฆ่าสัตว์เสียสง่าทั้งราศี
อายุน้อยถอยเลื่อนทุกเดือนปี           แล้วมักมีทุกข์โศกโรคโรคา
อนึ่งบรรทมถ้าลมคล่องทั้งสองฝ่าย พระบาทซ้ายอย่าพาดพระบาทขวา
ข้างขวาคล่องต้องกลับทับซ้ายมา    เป็นมหามงคลเลิศประเสริฐนัก ฯ
ค อนึ่งว่าถ้าจะจรแลนอนนั่ง                      สำเนียงดังโผงเผาะเกาะกุกกัก
คือคุณผีปีศาจอุบาทว์ยักษ์              ใครทายทักถูกฤทธิ์วิทยา
ค ขอพระองค์จงจำไว้สำเหนียก                ดังนี้เรียกสวัสดิรักษา
สำหรับองค์พงศ์กษัตริย์ขัตติยา      ให้ผ่องผาสุกสวัสดิ์ขจัดภัย
บทโบราณท่านทำเป็นคำฉันท์        แต่คนนั้นมิใคร่แจ้งแถลงไข
จึงกล่าวกลับซับซ้อนเป็นกลอนไว้   หวังจะให้เจนจำได้ชำนาญ
สนองคุณมุลิกาสามิภักดิ์                  ให้สูงศักดิ์สืบสมบัติพัสถาน
แม้ผิดเพี้ยนเปลี่ยนเรื่องเบื้องโบราณ  ขอประทานอภัยโทษได้โปรดเอย ฯ


แหวนพิรอด (แหวนป้องกันตัว)

แหวนพิรอด


                        เครื่องรางของขลังในสมัยโบราณมากมายหลายชนิด หนึ่งในนั้นอันเป็นที่นิยมกันมากในหมู่ผู้ชายชาตรีคือ “แหวนพิรอด” อนึ่งคนสมัยก่อนมีนิสัยรบทัพจบศึกสงครามอยู่บ่อยครั้งต้องมีการต่อสู้กับข้าศึกจึงมีผู้ประดิษฐ์คิดค้นของขลังชนิดนี้ขึ้นมาโดยอาศัยว่าจะทำให้คงกระพันชาตรี ฟันแทงไม่เข้า ป้องกันตัวจากข้าศึกศัตรู
                        แหวนพิรอดแต่เดิมนั้นหาได้ไม่ยากนักมีอยู่ถมไปตามสำนักต่างๆ แต่ละอาจารย์ท่านก็สานออกมาให้ลูกศิษย์ลกหาประชันวิชากันอยู่บ่อยๆ แต่มาในปัจจุบันเริ่มหาผู้ถักและมีวิชาอาคมปลุกเสกเลขยันต์แหวนพิรอดไม่ค่อยจะเหลือแล้วจึงถือว่าเป็นของหายากมากๆ ยิ่งอาจารย์เก่าที่ท่านไม่อยู่บนโลกนี้แล้วก็ยิ่งหายากเข้าไปใหญ่ ถึงปัจจุบันจะมีคนถักเป็นแต่ก็ใช่จะขลังเช่นเดียวกับคนสมัยก่อนถักขึ้นมา
                        ในเงื่อนต่างๆที่เราได้เรียนจากลูกเสือ ผมก็เรียนมานะแถมไม่ได้เรื่องอีกต่างหาก เงื่อนชนิดหนึ่งชื่อว่าเงื่อนพิรอด เป็นเงื่อนที่ง่ายๆใครๆก็ทำได้ใช้ต่อเส้นเชือกหรือมัดห่อสิ่งของ ผูกอะไรต่อมิอะไร ซึ่งเงื่อนพิรอดนี้เป็นตัวอย่างง่ายๆในการผูกเงื่อนแหวนพิรอดที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น
                        อุปเทห์ว่าแหวนพิรอดใช้ป้องกันตัว เป็นของขลังที่มีคุณทางอยู่ยงคงกระพันชาตรี ศาตราอาวุธฟันแทงไม่เข้า สวมใส่แล้วอึดทึกอดทนมากขึ้น ป้องกันคุณผีและคุณคน ป้องกันคุณไสยศาสตร์ต่างๆ

พิรอด คืออะไร ?
                        จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า พิรอด น. ชื่อแหวนชนิดหนึ่ง ถักด้วยผ้ายันต์หรือด้ายดิบเป็นต้น ใช้เป็นเครื่องราง.
พันเอกพระสารสารขันธ์ ท่านให้ความหมายแหวนพิรอดว่า "ชื่อ พิรอด มาจากภาษาสันสกฤตว่า วิรุทธ หรือ พิรุทธ แปลว่า อันขัดกันอยู่ อันได้รับการต่อต้านหรือขัดขวาง อันตรงกันข้ามเมื่อพิจารณาจากลายที่ถัก ก็ใช้ขัดกันแบบเงื่อนลูกเสือที่เรียกกันว่า เงื่อนพิรอด ก็ดูจะสมกับชื่อในภาษาสันสกฤตอยู่มาก เงื่อนพิรอดนั้นเป็นเงื่อนที่ใช้กันมาแต่โบราณนานมาก หลักฐานที่พอจะชี้ให้เห็นเป็นตัวอย่างได้ก็คือรูปสลักหินโบราณของพวกขอม จะเห็นว่าผ้าคาดเอวตรงด้านหน้าทำเป็นเชือกผูกเป็นเงื่อนพิรอดอย่างนี้เหมือน กัน เงื่อนชนิดนี้ยิ่งดึงยิ่งแน่น"

                        ความเป็นมาของแหวนพิรอดนั้นยากที่จะสืบเสาะหา บางท่านกล่าวว่า อาจจะมาจากชื่อคนว่า “พิรอด” เป็นผู้สร้างขึ้นหรือ แหวนหลวงพิรอด นั่นเอง  แหวนพิรอดนั้นเชื่อว่าแต่เดิมพัฒนาอาวุธคู่กายของนักมวยที่เรียกว่าสนับแขน ด้วยเหตุว่าการชกต่อยกันจะมีการต่อสู้ในระยะประชิด อาจมการกอดปล้ำกันเมื่อใส่สนับแขนที่ทำด้วยด้ายดิบลงยางรักแล้วแข็งมีความคมทำให้เมื่อถูกโดนจะเจ็บปวดจึงทำให้ศัตรูไม่กลายกอดปล้ำ

แหวนพิรอดมี
2  ชนิด คือ

            1. พิรอดนิ้ว คือ แหวนพิรอดที่มีขนาดเล็กใช้สวมที่นิ้วมือ เป็นเครื่องประดับและเครื่องรางของขลัง


            2. พิรอดแขน คือ สนับแขนพิรอดมีขนาดใหญ่สวมไว้ที่แขนเป็นอาวุธของนักมวยโบราณ 


            ปัจจุบันนอกจากสองชนิดนี้ยังมีผู้ประดิษฐ์เป็นกำไลพิรอดอีกด้วย

วัสดุและอุปกรณ์


แหวนพิรอดด้าย 

- ใช้ด้ายผ้าฝ้ายดิบ นำมาถักสานด้วยเงื่อนพิรอด แล้วลงยางรัก


แหวนพิรอดกระดาษ
-ใช้กระดาษ หรือกระดาษว่าว เขียนอักขระยันต์ตะกร้อ ยันต์ตรีนิสิงเห ยันต์มะอะอุ ม้วนเป็นเส้นแล้วนำมาถักสานด้วยเงื่อนพิรอด แล้วลงยางรัก

แหวนพิรอดผ้า 

- ใช้ผ้าขาว ผ้าแดง ผ้าดิบ หรือเศษจีวร ผ้าบังสุกุล ผ้าห่อศพ เขียนยันต์ทำแหวนพิรอด ม้วนเป็นเส้นแล้วนำมาถักสานด้วยเงื่อนพิรอด แล้วลงยางรัก

แหวนพิรอดหญ้าหรือเถาวัลย์

- ใช้หญ้าแพรกหรือเถาวัลย์ ไม้หวาย ลงอักขระยันต์ ถักสานด้วยเงื่อนพิรอด แล้วลงยางไม้ ยางสนเคลือบ หรือลงยางรัก

แหวนพิรอดไม้
- ใช้ไม้ตะเคียน กิ่งโพธิ์ ไม้มงคลต่างๆ แกะสลักเป็นเงื่อนพิรอด ลงยันต์คาถา เคลือบยางไม้ ยางสนหรือลงยางรัก

แหวนพิรอดหางช้าง

- ใช้ขนหางช้าง งาช้าง หรือหางสัตว์ ถักสานเป็นเงื่อนพิรอด

แหวนพิรอดหิน

-ใช้หินแกะสลัก หยกแกะสลัก หรืออัญมณีทำหัวแหวนพิรอด  เรียกว่า “แหวนพิรอดนพเก้า”

แหวนพิรอดโลหะ


-เป็นแหวนพิรอดที่นิยมไม่แพ้แหวนพิรอดด้ายดิบ ทำจากโลหะด้วยการขึ้นรูปเป็นเส้นแล้วถักสานหรือหล่อแบบเป็นแหวนพิรอดทั้งวงเลย โลหะที่นิยมก็ทอง เงิน ทองแดง ทองเหลือง เหล็ก อื่นๆ

คาถาอาคมและเลขยันต์ที่ใช้


ยันต์ตรีนิสิงเห

ยันต์ตะกร้อ

            เมื่อได้แหวนพิรอดมาแล้วจะโยนเข้ากองไฟ หากไฟไหม้แหวนพิรอดนั้นถือว่าใช้ไม่ได้ต้องทำอันใหม่ที่ไฟไม่ไหม้ และการนำไปใช้เมื่อต้องไปทำศึกสงครามให้ถือแหวนพิรอดนี้แล้วบริกรรมด้วย มะอะอุฯและถ้าจะให้เป็นตบะเดชะในสงคราม
            ทำให้ข้าศึกครั่นคร้าม ให้บริกรรมด้วยคาถา โอม ยาวะ พะกาสะตรีนิสิเหฯ เงื่อนพิรอดนั้น จัดเป็นเงื่อนสำคัญที่ใช้ในการต่อเชือกหรือการผูกโยงเพื่อความมั่นคง แน่นหนาอย่างวิชาเชือกคาดสายหลวงปู่ขัน วัดนกกระจาบ ที่ต่อยุคมายังหลวงปู่ธูปวัดแค นางเลิ้ง กทม. ซึ่งพระเกจิอาจารย์ท่านนี้เป็นผู้ทรงคุณวิทยาสูงส่งเฉพาะด้านมหานิยมก็เข้ม ขลังขนาดอมตะ ดาราอย่าง คุณ มิตร ชัยบัญชายังนับถือเป็นลูกศิษย์ซึ่งวงการผู้นิยมเครื่องรางก็ทราบกันดี โดยเชือกคาดสายหลวงปู่ขันนั้นเวลาคาดต้องขัดเป็นเงื่อนพิรอด มีคาถากำกับว่า "พระพิรอดขอดพระพินัย" และเวลาแก้เชือกก็มีคาถาว่า "พระพินัยคลายพระพิรอด" อันจะเห็นได้ว่าศาสตร์การใช้เงื่อนพิรอดนั้นยังสืบมาถึงเครื่องคาดอย่าง เชือกหรือการ ผูกตะกรุด พิสมรซึ่งต้องรวมถึงเครื่องรางโบราณอีกชนิดที่ปัจจุบันไม่ค่อยมีเกจิอาจารย์ สร้างก็คือ "ผ้าขอด" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องพิรอดด้วยโดยผ้าขอดนั้นจะเป็นการขัด "พิรอดเดี่ยว" เกจิอาจารย์ที่มีชื่อเรื่องผ้าขอดในยุคเก่า ๆ เช่น หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, หลวงพ่อพรหม วัดขนอนเหนือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, หลวงพ่อกวย ชุตินธโร จังหวัดชัยนาท เป็นต้น ในส่วนเครื่องรางผ้าขอดสายวัดสะแก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็มีชื่อเช่นกันแต่เป็นฆราวาส ที่ชื่อว่า เฮง ไพรวัลย์ ลอยเรืออยู่ท่าน้ำวัดสะแกบางคนเรียก ว่า อาจารย์เฮงเรือลอยก็มี

วิธีสานแหวนพิรอด
1.ตัดเชือกความยาวประมาณครึ่งเมตร ทบครึ่ง จัดเชือกตามภาพ



2.จับเชือกด้านนึงม้วนให้เป็นวง ตามภาพ



3.จับเชือกเส้นเดิมทับอีกปลายเชือกของเรา จัดเชือกให้ได้ตามภาพ


4.จัดเชือกให้เป็นวง ดูจากรูป  ง่ายกว่าถ้าอ่านอย่างเดียว จะงงมากเลยเพราะอธิบายไม่ถูกเลยไม่รู้จะอธิบายยังไงดี


5.จับปลายเชือกสอดไต้ ตามภาพ จบขั้นตอนนี้ปลายด้านนี้เราก็ถักเสร็จเรียบร้อยแล้ว


6.เริ่มมาจับเชือกอีกปลายนึงที่เราทิ้งไว้ตั้งแต่ตอนแรก คราวนี้เริ่มยากหน่อยมีสอดๆ ทับๆ สลับๆกันไป จับปลายด้านนี้ทับเส้นที่ยุทำลูกศรเอาไว้


7.จับปลายเชือกเมื่อกี้ สอดไต้เชือกที่ยุทำลูกศรเอาไว้


8.จบขั้นตอนนี้จะได้แบบนี้

9.จับเชือกเส้นเดิมทับเส้นที่ยุทำลูกศรเอาไว้


10.จับเชือกสอดไต้อีกเส้น


11.จับเชือกเส้นเดิมทับเส้นที่ยุทำลูกศรเอาไว้


12.แล้วก็สอดไต้เส้นที่ยุทำลุกศรเอาไว้


13.เรียบร้อยแล้วได้มาแบบนี้ เช็คดูความเรียบร้อยจะเห็นว่าเชือกถักสาน ขัดกันทั้งทับและสอด สลับกันไป อันเป็นตามความหมายของคำว่าพิรอดนั่นล่ะ




บัตรพลี เครื่องสังเวยบรวงสรวง

บัตรพลี เครื่องสังเวยบรวงสรวง

บัตรพลีพระเกตุ

            บัตรพลี หลายคนอาจจะยังไม่เคยได้ยิน แต่ผมเชื่อว่าทุกคนจะรู้จัก “สะตวง” คนเหนือจะรู้จักดีว่าสะตวงใช้ทำอะไร ซึ่งบัตรพลีก็คือสะตวงนั้นเอง แต่เขาเรียกกันว่า “บัตร”

            บัตร แปลว่าใบ หมายถึงใบตองกล้วยตานี แล้วนำมาเป็นกระทงสำหรับใส่อาหารคาว หวาน ที่จะกระทำการพลีแด่เทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์
            พลี แปลว่า การให้ การเซ่น ถวาย เสียสละเพื่อการบูชา
            บัตรพลี หมายถึง กระบะเครื่องสังเวย ทำด้วยหยวกกล้วย หักพับเป็นกระบะรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีก้านกล้วยตานี
4 ก้าน ประกอบเป็นขาตั้ง ภายในกระบะบรรจุกระทงใบตองสดใบเล็กๆ ขนาดถ้วยตะไล ใส่อาหารคาวหวาน ถั่ว งา นมเนย เป็นต้น

            บัตรทั่วไปที่ใช้เป็นเครื่องสังเวยอมุนย์ จะเป็นบัตรพลีอย่างง่าย ใช้กาบกล้วยหัก 4 มุม บรรจุกระทงใส่ข้าวปากหม้อ กุ้งพล่าปลายำ ถั่วคั่ว งาคั่ว อาหารคาวหวาน ผลไม้อย่างละน้อย เพื่อบังบรวงแก่อมุนย์ ภูตผีปิศาจ พ่อซื้อแม่ซื้อ พ่อแถนแม่แถน ผีป่าทางสามแพร่ง อย่างในครั้งที่เด็กไม่สบาย เกิดความผิดปกติขึ้น มักจะทำพิธีเซ่นไหว้ และทำขวัญเด็ก เนื่องจากถูกพ่อซื้อแม่ซื้อมารบกวนดังคำทำขวัญเด็กที่ว่า
            “แม่ซื้อลางบางพันอยู่ในไส้ มักร้องไห้ร้องคราง แม่ซื้อบางลางขวางอยู่ในสดือ ทำให้อึดอื้อแสลงท้อง ให้สอื้นร้องดิ้นรน” 

            ด้วยเหตุความเชื่อนี้จึงต้องมีการทำบัตรพลี เพื่อเสียแก่พ่อซื้อแม่ซื้อ ไว้ตามทางสามแพร่ง ดังคำขาลที่ว่า
            “แม่ซื้อบรรดาเที่ยวมาสถิต ทั้ง 28 ตนคิดมาทำโทษ ขออย่าพิโรธอดโทษา มารับเนื้อปลาสุรายำ อีกกระทองน้ำกระทงเข้า อนึ่งเล่าเครื่องอาภรณ์ ผู้คนสลอนห้อมล้อม เสร็จพรั่งพร้อมอยู่ไสว ขอเชิญไปลงบัตร กินให้สวัสดีพร้อมญาติ แล้วประลาศคลาไคล”

            การทำบัตรพลีในการบูชานพเคราะห์ ผู้จะทำต้องมีกำนัล 1 เฟื้อง หมากพลู 1 คำ เป็นเครื่องคำนับ ในพิธีบูชานพเคราะห์ต้องมีบัตรพลี 11 อัน แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
            1. บัตรพระเกตุ 1 อัน สูง 9 ชั้น มียอดมีขาตั้ง

            2. บัตรเทพยดาอัฐทิศ 8 อัน สูง 3 ชั้น มียอดและมีขาตั้ง

            3. บัตรพระภูมิเจ้าที่ 1 อัน รูปสี่เหลี่ยม ไม่มียอดและขาตั้ง

            4. บัตรกรุงพาลี 1 อัน รูปสามเหลี่ยม ไม่มียอดและขาตั้ง บางทีเรียกว่า บัตรคางหมู

            ด้านกว้างและด้านยาวของบัตรมีขนาด 1 คืบเท่ากันทั้ง 4 ด้าน
            บัตรเทพยดาอัฐทิศนั้น ฐานบัตรชั้นต้นกำหนดให้สูงจากพื้นราว 1 คืบ ชั้นต่อๆไปลดลงตามส่วนพองามทำเป็น 3 ชั้น เหลือจาก 3 ชั้นให้ผูกรวมกันเป็นยอดบัตร สำหรับปักรูปเทวดาประจำบัตรนั้น
            บัตรพระเกตุต้องทำเป็น 9 ชั้นด้วยกัน เริ่มฐานต้นเท่ากัน ฐานต่อไปก็ให้ลดลงตามส่วนพองาม แต่ต้องให้ระยะถี่กันหน่อย เหลือจากชั้นที่ 9 ขึ้นไป ก็ให้ผูกรวมไว้สำหรับปักรูปเทวดาพระเกตุ
            บัตรของกรุงพาลีหรือพระภูมิเจ้าที่นั้น กำหนดให้ด้านยาวกว้างด้านละ 1 คืบเช่นกัน บัตรพระภูมิเจ้าที่เป็นกระบะรูปสี่เหลี่ยม และบัตรกรุงพาลีเป็นกระบะรูปสามเหลี่ยม

ภายในบัตรพลีบรรจุสิ่งของต่อไปนี้
            1. กระทงเล็กๆ ขนาดเท่าถ้วยตะไล 12 กระทง ภายในใส่ข้าวปากหม้อ อาหารคาวหวาน ถั่วคั่ว งาคั่ว ข้าวตอก นม เนย และนำกระทงบรรจุในฐานบัตรชั้นต้นตามกำลังของเทวดาประจำบัตรนั้น คือ
                        บัตรพระอาทิตย์ 6 กระทง
                        บัตรพระจันทร์ 15 กระทง
                        บัตรพระอังคาร 8 กระทง
                        บัตรพระพุธ 17 กระทง
                        บัตรพระเสาร์ 10 กระทง
                        บัตรพระพฤหัสบดี 19 กระทง
                        บัตรราหู 12 กระทง
                        บัตรพระศุกร์ 21 กระทง
                        บัตรพระเกตุ 9 กระทง
                        บัตรกรุงพาลี 3 กระทง
                        บัตรพระภูมิ 4 กระทง

            2. ธงสีต่างๆ 124 อัน ปักตามมุมบัตรโดยรอบ
                        บัตรพระอาทิตย์ ปักด้วยธงสีแดงแก่ 6 อัน
                        บัตรพระจันทร์ ปักด้วยธงสีขาว15 อัน
                        บัตรพระอังคาร ปักด้วยธงสีชมพู 8 อัน
                        บัตรพระพุธ ปักด้วยธงสีเขียวใบไม้ 17 อัน
                        บัตรพระเสาร์ ปักด้วยธงสีดำ 10 อัน
                        บัตรพระพฤหัสบดี ปักด้วยธงสีเหลือง 19 อัน
                        บัตรราหู ปักด้วยธงสีเม็ดมะปราง (ม่วง) 12 อัน
                        บัตรพระศุกร์ ปักด้วยธงสีขาวมัน 21 อัน
                        บัตรพระเกตุ ปักด้วยธงสีทอง 16 อัน
                        บัตรกรุงพาลี ปักด้วยธงสีทอง 3 อัน
                        บัตรพระภูมิ ปักด้วยธงสีทอง  4 อัน
            3. หมากพลูจีบจำนวน 124 คำ จัดใส่ไว้ชั้นกลางของบัตรเท่าจำนวนกระทง
            4. ดอกไม้สีต่างๆ 9 สี ใส่ในชั้นบนของบัตร
                        ดอกไม้สีเหลือง เช่น ดอกดาวเรืองสีส้ม ใส่ในบัตรพระเกตุ บัตรกรุงพาลี บัตรพระภูมิ
                        ดอกไม้สีแดงแก่ เช่น ดอกกุหลาบ ใส่บัตรพระอาทิตย์
                        ดอกไม้สีขาว เช่น ดอกมะลิ ใส่บัตรพระจันทร์
                        ดอกไม้สีชมพู เช่น ดอกบัวหลวง หรือดอกกุหลาบมอญ ใส่ในบัตรพระอังคาร
                        ดอกไม้สีเขียว เช่น ดอกขจร ใส่ในบัตรพระพุธ
                        ดอกไม้สีม่วง เช่น ดอกอัญชันแก่ ใส่ในบัตรพระเสาร์
                        ดอกไม้สีเหลืองอ่อน เช่น ดอกดาวเรืองสีเหลืองอ่อน ใส่บัตรพระพฤหัสบดี
                        ดอกไม้สีเม็ดมะปราง เช่น ดอกอัญชันม่วงอ่อน ใส่ในบัตรพระราหู
                        ดอกไม้สีขาวมัน เช่น ดอกจำปี ใส่บัตรพระศุกร์
            ถ้าหาดอกไม้สีที่ต้องการไม่ได้ ก็ใช้ดอกบานไม่รู้โรยขาวย้อมสีตามต้องการ
            5. รูปเทวดานพเคราะห์ 9 องค์ ปักตามยอดบัตรประจำของแต่ละองค์ ถ้าไม่มีรูปก็ใช้พวงมาลัยสวมแทน

            6. เทียนทำบัตร 11 เล่ม และเทียนจุดบูชาเทวดา 124 เล่ม
            7. ใบไม้รองบัตรบูชา
                        บัตรพระอาทิตย์รองด้วยใบไทรและใบราชพฤกษ์
                        บัตรพระจันทร์รองด้วยใบบัว
                        บัตรพระอังคารรองด้วยใบมะม่วง
                        บัตรพระพุธรองด้วยใบขนุน
                        บัตรพฤหัสบดีรองด้วยใบตอง
                        บัตรพระศุกร์รองด้วยใบเงินใบทอง
                        บัตรพระเสาร์รองด้วยใบมะตูม
                        บัตรพระราหูรองด้วยใบยอ

                   บัตรพลีมักใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีโกนจุก พิธีฉลองอายุ พิธีการมงคล บูชาบวงสรวงเทพยดา  บัตรพลี เป็นภาชนะที่จัดทำขึ้นเพื่อใส่เป็นเครื่องสังเวยบังบรวงต่อเทวดา  ทั้งก่อนการทำพิธีมงคล ส่วนการตั้งบัตรคู่ เป็นการตั้งบัตรบัตรพราย บัตรบายศรีคู่ ตั้งเพื่อปัดเป่าเสนียดจัญไร พิธีกลบบัตรสุมเพลิง หรือจะตัดต้นไม้ใหญ่มากๆ ที่คาดว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ก็ตั้งบัดบอกกล่าวบังบรวงสรวงสังเวยแก่รุกขเทวดาเหล่านั้นเสีย หรือไม่ว่าจะเป็นบัตรพลีเสียกระบาล บอกกล่าวต่อพญายมราช เจ้ากำนายเว้น เป็นต้น

เบี้ยแก้ และ ภควจั่น

เบี้ยแก้ และ ภควจั่น


            ในบรรดาวัตถุมงคลต่างๆ มีเครื่องรางของขลังอยู่ชนิดหนึ่งที่สร้างมาเพื่อแก้คุณไสย์โดยเฉพาะ สำหรับคนที่ไม่รู้จักเบี้ยแก้ ก็ทำความรู้จักไว้เสียก่อน เบี้ยแก้ทำมาจากหอยเบี้ยโดยหอยเบี้ยถือเป็นเงินตราในสมัยโบราณ ซึ่งก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับหอยเบี้ยในโบราณทั้ง 8 ชนิดกันก่อน
1. เบี้ยโพล้ง
2. เบี้ยแก้
3. เบี้ยจั่น
4. เบี้ยนาง
5. เบี้ยหมู
6. เบี้ยพองลม
7. เบี้ยบัว
8. เบี้ยตุ้ม

            สำหรับเบี้ยที่ใช้เป็นเครื่องรางมีเบี้ยจั่น หรือเบี้ยจักจั่น โดยลักษณะทั่วไปของเบี้ยจั่น คือ มีเปลือกแข็ง ผิวเป็นมัน หลังนูน ท้องแบน ช่องปากยาวแคบและไปสุดตอนปลายทั้ง 2 ข้าง เป็นลำราง ริมปากทั้ง 2 เป็นหยักคล้ายฟัน ไม่มีฝาปิด มีความยาวประมาณ 12-24 มิลลิเมตร มีถิ่นแพร่กระจายอยู่ในทะเลเขตอบอุ่นทั้งในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย อาทิ ทะเลแดง อินโด-แปซิฟิก นอกชายฝั่งทะเลด้านมหาสมุทรแปซิฟิกของอเมริกากลาง ชายฝั่งทะเลทวีปแอฟริกาตอนตะวันออกและใต้ ทะเลอันดามัน อ่าวไทย ทะเลญี่ปุ่น ไปจนถึงโอเชียเนีย ดำรงชีวิตอยู่ตามแนวปะการังใกล้ชายฝั่ง กินอาหารจำพวกแพลงก์ตอนและสาหร่ายทะเลที่ลอยมาตามกระแสน้ำ

            เปลือกหอยของหอยเบี้ยชนิดนี้ มีความสำคัญต่อมนุษย์มาตั้งแต่ยุคโบราณ โดยใช้เป็นเครื่องแลกเปลี่ยนสิ่งของแทนเงินตราในปัจจุบัน สันนิษฐานว่าคำว่า "เบี้ย" ในภาษาไทยก็เรียกเพี้ยนมาจากคำว่า "รูปี" ซึ่งเป็นหน่วยเงินตราของอินเดียมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล

            นอกจากนี้แล้ว เปลือกหอยเบี้ยจักจั่นยังใช้เป็นเครื่องรางของขลังในวัฒนธรรมไทย โดยมักนำไปบรรจุปรอทแล้วเปิดทับด้วยชันโรงใต้ดิน อาจจะมีแผ่นทองแดงลงอักขระยันต์หรือไม่ก็ได้ เชื่อกันว่า ถ้าพกเปลือกหอยเบี้ยชนิดนี้ไว้กับตัวเวลาเดินทางสัญจรในป่า จะช่วยป้องกันไข้ป่า รวมถึงป้องกันและแก้ไขอันตรายจากร้ายให้กลายเป็นดีได้ หรือนำไปตกแต่งพลอยเรียกว่า "ภควจั่น" ในเด็ก ๆ เชื่อว่าช่วยป้องกันฟันผุ หรือพกใส่กระเป๋าสตางค์ เชื่อว่าทำให้เงินทองไหลเทมาและโชคดี “ภควจั่น” นี้แยกออกเป็นสองคำคือ  ภคว เป็นคำย่อของ  ภควดี  อันเป็นสมญานามของ  พระลักษมีและจั่น  เป็นคำสามัญหมายถึง  เบี้ยจั่น  อันเป็นเครื่องหมายของพระลักษมี ซึ่งเป็นเครื่องรางในสมัยอยุธยาที่นำเอาเบี้ยจั่นมาหุ้มด้วยทองแล้วประดับพลอย


ปัจจุบัน เปลือกหอยเบี้ยจักจั่นยังนิยมสะสมกันเป็นของประดับและของสะสมกันอีกด้วย โดยมีชนิดที่แปลกแตกต่างไปจากปกติ คือ "ไนเจอร์" (Niger) ที่หอยจะสร้างเมลามีนสีดำเคลือบเปลือกไว้จนกลายเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลคล้ำทั้งหมด และชนิดที่มีราคาสูงที่สุด เรียกว่า "โรสเตรท" (Rostrat) หรือ หอยเบี้ยจักจั่นงวง คือ เป็นหอยเบี้ยจักจั่นในตัวที่ส่วนท้ายของเปลือกมิได้กลมมนเหมือนเช่นปกติ แต่สร้างแคลเซี่ยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในเวลาหลายปี จนกระทั่งยาวยืดออกมาและม้วนขึ้นเป็นวงอย่างสวยงามเหมือนงวงช้าง ซึ่งหอยในรูปแบบนี้จะพบได้เฉพาะแถบอ่าวด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่เกาะนิวแคลิโดเนียที่เดียวในโลกเท่านั้น มีการประเมินราคาของเปลือกหอยลักษณะนี้ไว้ถึง 25 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นราคาของเปลือกหอยที่มีค่าสูงที่สุดในโลกอีกด้วย

เบี้ยแก้


            เบี้ยแก้มีอิทธิฤทธิ์ทางด้านการป้องกันคุณไสย มนต์ดำ ยาเสน่ห์ กันเขี้ยวงา หรือ แม้กระทั่งกันผี เบี้ยแก้ที่ดังๆ เป็นที่รู้จักกันมีอยู่ 2 สำนัก คือ เบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง และ เบี้ยแก้หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว ว่ากันว่าอาคมของหลวงปู่ทั้งสองนี้ เข้มขลังนัก ขนาดที่ว่าเสกเบี้ยให้คลานเหมือนหอยได้เลยทีเดียว 

            วิธีการสร้างเบี้ยแก้คือการนำปรอทที่ปลุกเสกแล้วเข้า ไปอยู่ในตัวเบี้ย แล้วหาวิธีอุดไว้ไม่ให้ปรอทหนีออกมาได้ อย่างของอาคมประเภท ลูกอม หรือลูกสะกด ต่างๆ ที่ต้องนำปรอทมาหลอมกับทองแดง เงิน ทองคำนั้นเรียกว่าปรอทที่ตายแล้ว ส่วนปรอทที่นำมาทำเบี้ยแก้เรียกว่าปรอทเป็น โดยเมื่อเขย่าตัวเบี้ยแก้แล้วจะได้ยินเสียงดัง "ขลุกๆ" อยู่ในตัวเบี้ย
            ถ้าทำเบี้ยในช่วงฤดูร้อน ปรอทจะมีการขยายตัวมาก ทำให้เวลาเขย่าในสภาวะอากาศร้อนก็จะไม่ค่อยได้ยินเสียง "ขลุก" แต่ถ้าในเบี้ยตัวเดียวกันมาเขย่าในช่วงอากาศหนาวปรอทจะหดตัวลงทำให้มีพื้นที่ในตัวเบี้ยเหลือทำให้เขย่าแล้ว ได้ยินเสียง "ขลุก" ได้ชัดเจน เมื่อกรอกปรอทเสร็จแล้วจะปิดช่องด้วยชันนะโรงใต้ดินที่ปลุกเสกแล้ว และหุ้มด้วยผ้าแดงหรือแผ่นตะกั่วแผ่นทองแดงแล้วจึงนำ มาถักเชือกหรือหุ้มทำห่วงไว้ให้ ผูกเอวหรือห้อยคอ ขั้นตอนสุดท้ายคือการปลุกเสกกำกับอีกครั้งหนึ่ง เสียงของเบี้ยแก้แต่ละตัวไม่เหมือนกันบางตัวก็ดังมาก บางตัวก็ดังน้อย บางตัวบรรจุปรอทน้อยเกินไปการกระฉอกของปรอทจะดังคล่องแคล่วดีแต่ก็ขาดความหนักแน่น บางตัวบรรจุปรอทมากไปก็อาจจะทำให้เสียงน้อยหรือไม่ได้ยินเลยก็มีสำหรับผู้ที่ชื่นชอบนะครับ คราวหน้าคราวหลังถ้าได้ไปเช่าหาเบี้ยแก้ก็อย่าลืม "เขย่า" ใกล้ๆ หู ฟังเสียงปรอทมันกระฉอกชอบเสียงแบบไหนก็เลือกตัวนั้นเลย 

         ลูกสะกดปรอท  พระปรอท  และเมฆสิทธิ์ลักษณะต่าง ๆ เพราะอิทธิวัตถุเหล่านี้ใช้ปรอทแข็ง  ซึ่งเป็นปรอทผสมกับโลหะต่าง ๆ เช่น  ทองแดง  เงิน  และทองคำ  เป็นต้น  บางทีก็เรียกว่า  “ปรอทที่ฆ่าตายแล้ว”  ซึ่งจะมีความหมายลึกซึ้ง  ประการใดก็ยังไม่ทราบแน่ชัดนัก  ส่วนปรอทที่ใช้บรรจุในตัว  เบี้ยจั่น  นั้นเป็น  ปรอทเป็น  หรือปรอทดิน  เวลาเขย่าเบี้ยแก้ใกล้ ๆ หู  จะได้ยินเสียปรอทกระฉอกไปมา  เสียงดัง  “ขลุก ๆ”  ซึ่งเรียกว่า  “เสียงขลุก”  ของปรอท  ดังชัดบ้างไม่ชัดบ้าง  ขึ้นอยู่กับปริมาณปรอทที่บรรจุปริมาตรของโพรงในท้องเบี้ย  และอุณหภูมิฤดูกาลในขณะนั้น ๆ ถ้าหากการสร้างเบี้ยแก้กระทำในฤดูร้อนบรรจุปรอทมากจนเต็มปริมาตรและเขย่าฟัง เสียงในอากาศร้อน ๆ จะฟังเสียงไม่ค่อยได้ยินเลย  แต่เบี้ยแก้ตัวเดียวกัน  ลองเขย่าและในฤดูหนาวที่อากาศเย็น ๆ จะได้ยินเสียงชัดเจนขึ้น
         เวลานำปรอทที่ปลุกเสกแล้วก็กรอกลงไปในท้องเบี้ยจั่นพอประมาณ  เอาชันโรงใต้ดินที่ปลุกเสกแล้วอุดยาบริเวณปากร่องใต้ท้องเบี้ยให้สนิทเรียบ ร้อย  แล้วจึงหุ้มด้วยผ้าแดงที่ลงอักขระเลขยันต์และปลุกเสกแล้ว  เสร็จแล้วจึงเอาด้วยถักหุ้มเป็นลวดทองแดงขดเป็นห่วง  เพื่อให้ใช้คล้องสร้อยแขวนคอ  หรือทำเป็นสองห่วงไว้ใต้ท้องเบี้ย  เพื่อร้อยเชือกคาดเอว

         เบี้ยแก้ของหลวงปู่บุญวัดกลางบางแก้ว  ต่างกับเบี้ยแก้ของหลวงปู่รอดวัดนายโรง  ตรงที่หุ้มผ้าแดงลงอักขระเพราะของหลวงปู่รอดใช้แร่ตะกั่วหุ้ม  แล้วจึงลงอักขระลงบนพื้นตะกั่วรอบตัวเบี้ยอีกครั้ง  การที่ทราบเช่นนี้ได้ก็เพราะมีผู้อุตริสอดรู้สอดเห็นบางคน  เคยผ่าเบี้ยแก้ของทั้งสองสำนักนี้ดู  จึงได้ปรากฏหลักฐานการห่อหุ้มอิทธิวัตถุชั้นในภายใต้ด้ายถักลงรัก  ซึ่งเป็นเปลือกหุ้มด้านนอกดังกล่าว
         ลักษณะการถักด้ายหุ้มด้านนอกเท่าที่สังเกตดู  ถ้าเป็นเบี้ยแก้ของหลวงปู่บุญ  จะมีการถักด้ายหุ้มตลอดตัวเบี้ยและเป็นลายถักเรียบ ๆ สม่ำเสมอกันตลอดตัวเบี้ย  ส่วนเบี้ยแก้ของหลวงปู่รอด  จะปรากฏทั้งแบบที่ถักด้ายหุ้มตลอดตัวเบี้ย  กับถักเว้นวงกลมไว้บริเวณกลางหลังเบี้ย  และลายถักนี้ก็มีทั้งแบบลายเรียบสม่ำเสมอกันแบบลานสอง  (เป็นเส้นสันทิวขนานคู่แบบผ้าลายสอง)  แต่ข้อสังเกตอันนี้จะถือเป็นกรณีแน่ชัดตายตัวนักไม่ได้  เพราะคาดว่าลักษณะการถักดังกล่าวคงจะมีปะปนกันทั้งสองสำนัก
         เสียง  “ขลุก”  ของปรอท  จากการสังเกตเสียงขลุกของปรอทในขณะที่เขย่าเบี้ยแก้ที่ริมหู  จะได้ยินเสียงการกระฉอกไปมาของปรอทภายในท้องเบี้ยสำหรับของจริงของสองสำนัก ดังกล่าวนี้จะมี  “เสียงขลุก”  คล้ายคลึงกันกล่าวคือ  จะมีลักษณะเป็นเสียงกระฉอกของปรอทซึ่งสะท้อไปสะท้อนมาหลายทอดหรือหลาย จังหวะ  ชะรอยการบรรจุปรอทลงในเบี้ยแก้จะต้องมีเทคนิคหรือกรรมวิธีที่แยบคายบาง ประการเช่น  บรรจุปรอทในปริมาณที่พอดีกับปริมาตรภายในห้องเบี้ยกล่าวคือให้เหลือช่อง ว่างไว้พอสมควรให้ปรอทได้มีโอกาสกระฉอกไปมาได้สะดวงและน่าจะเป็นการบรรจุ ปรอทในฤดูร้อน  ตอนกลางวันเพราะอุณหภูมิในห้วงเวลานั้น ๆ ปรอทจะมีสภาพขยายตัวมากเมื่อได้รับการบรรจุแล้ว  ปรอทก็จะลดตัวลงตามฤดูกาลทำให้เกิดช่องว่างภายในท้องเบี้ยเพิ่มขึ้น  สะดวกแก่การกระฉอกหรือคลอน
            เบี้ยแก้บางตัวจะมีเสียงขลุกไพเราะมาก  เป็นเสียงขลุกที่มีหลายจังหวะ  และหลายแบบ  คือมีทั้งเสียงหนักและเสียเบา  สลับกันอุปมาเสมือนนักร้องที่มีลูกคอหลายชั้นหรือนกเขาเสียงคู่  เสียงเอกที่มีลูกเล่นหลายชั้นส่วนเบี้ยแก้บางตัวที่บรรจุปรอทน้อยเกินไป  การกระฉอกของปรอทคล่องแคล่วดีแต่เสียงขลุกขาดความหนักแน่นตรงกันข้ามกับ เบี้ยแก้บางตัว  บรรจุปรอทมากเกินไป  การกระฉอกหรือคอลนจึงมีน้อย  จนเกือบสังเกตไม่ได้


 เบี้ยแก้ของสำนักอื่นๆ
          นอกจากเบี้ยแก้ของสำนักวัดกลางบางแก้วของหลวงปู่บุญ  และของหลวงปู่รอด  วัดนายโรงแล้ว  ยังมีของสำนักอื่น ๆ อีก  เช่น เบี้ยแก้วัดคฤหบดี  วัดอยู่ในคลองบางกอกน้อยเช่นเดียวกันกับวัดนายโรงแต่ยังสืบทราบความเป็นมา ของการสร้างเบี้ยแก้ได้ไม่ชัดเจนนัยว่าหลวงพ่อผู้สร้างเบี้ยแก้เป็นศิษย์ของ หลวงปู่รอดวัดนายโรงนั้นเอง  เบี้ยแก้ของวัดคฤหบดีจัดว่าเป็นเบี้ยแก่รุ่นเก่า  รองลงมาจากของสำนักดังกล่าวลักษณะของเบี้ยแก้วัดคฤหบดีนั้นเท่าที่ทราบและ พิจารณาความจริงของจริงมาบ้างนั้นเข้าใจว่าสัณฐานของตัวเบี้ยค่อนข้างจะเบา กว่าของวัดกลางและของวัดนายโรงสักเล็กน้อย  แต่ถ้าค่อนข้างเล็กมากก็กล่าวกันว่า  จะเป็นของหลวงปู่แขก  เส้นด้ายที่ถักหุ้มตัวเบี้ยของวัดคฤหบดี  ค่อนข้างหยาบกว่าของวัดนายโรง  และมีทั้งลงรักปิดทองและลงยางมะพลับ  (สีน้ำตาลไหม้คล้ำ)  ลักษณะการถักหุ้มคงมีสองแบบคือ  แบบถักหุ้มทั้งตัวเบี้ยกับ  แบบถักเหลือเนื้อที่เป็นวงกลมไว้หลังเบี้ย  และเสียง  “ขลุก”  ของปรอทมีจังหวะและน้ำหนักของเสียงน้อยกว่าของสองสำนักนอกจากนี้ยังสืบทราบมาว่า  ทางจังหวัดอ่างทองยังมีเบี้ยแก้อีกสามสำนักด้วยกันคือ

         เบี้ยแก้วัดนางใน  วัดนางในอยู่หลังตลาด  อำเภอวิเศษไชยชาญ  จังหวัดอ่างทอง  หลวงพ่อผู้สร้างเบี้ยแก้ได้มรณภาพไปนานปีแล้ว  และท่านเป็นอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อโปร่ง  เจ้าอาวาสวัดท่าช้างรูปปัจจุบัน  ลักษณะของเบี้ยแก้ไม่ได้  ถักด้ายหุ้ม  เมื่ออุดด้วยชันโรงใต้ดินแล้วก็ใช้หุ้มเลี่ยมด้วยเงิน  ทอง  หรือนาค  และเหลือให้เป็นเนื้อเบี้ยเป็นวงกลมไว้ด้านหลัง
            เบี้ยแก้วัดโพธิ์ปล้ำ  วัดตั้งอยู่ในตำบลท่าช้าง  อำเภอวิเศษไชยชาญ  จังหวัดอ่างทอง  หลวงพ่อผู้สร้างเบี้ยแก้ก็คงมรณภาพไปนานแล้วเช่นเดียวกัน  และท่านเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อโปร่งลักษณะของเบี้ยแก้คงทำนองเดียวกันกับของ วัดนางใน
            เบี้ยแก้วัดท่าช้าง  วัดตั้งอยู่ในตำบลสี่สร้อย  อำเภอวิเศษไชยชาญ  จังหวัดอ่างทอง    หลวงพ่อโปร่ง  “ปญฺญาธโร”  เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันเป็นผู้สร้างลักษณะของเบี้ยแก้คงคล้ายกับสองสำนักดัง กล่าว  เพราะเชื้อสายเดียวกัน

ความสำคัญของเบี้ยแก้
         เบี้ยแก้ตัวนี้สำคัญนัก  พ่อค้าแม่ขายจักหมั่นไหว้บูชา  จะไต่เต้าเจ้าสัวแสนทะนาน  ลาภเต็มห้องทองเต็มไห  ขุนนางใดมีไว้ในตัวดีนักแล  จักให้คุณเป็นถึงท้าวเจ้าพระยาพานทอง  ทรัพย์สินสิ่งของเต็มวัง  อีกช้างม้าวัวความนับได้หลายเหลือ  หลวงปู่เฒ่าเจ้าสั่งสิ่งอาถรรพณ์  อาเทพอัปมงคลทุกข์ภัยพิบัติทั้งยาสั่ง  ให้อันตรธานสิ้นไป  ศัตรูปองร้ายให้พ่ายแพ้ภัยตัว  ขึ้นโรงขึ้นศาลชนะปลอดคดีความสิงค์สาราสัตว์สารพัดร้าย  ปืนผาหน้าไม้ผีป่าปอบและผีโป่ง  ทั้งแขยงมิกล้ากล้ำกราย  หากมีเหตุเภทภัยอันตรายจะบอกกล่าวเตือนว่า จงอย่าไป

         เบี้ยแก้เป็นอิทธิวัตถุชั้นหนึ่งเตือนใจให้สะดุ้งกลัวภัยที่มองไม่เห็นตัว  หากบุคคลใดมีไว้เป็นสมบัติ  นำติดตัวโดยคาดไว้กับเอว  หรือโดยประการอื่นใด  ย่อมปกป้องภยันตรายได้ทั้งปวง  เป็นเมตตามหานิยม  แคล้วคลาดมหาอุดคงกระพันทุกประการ  คุ้มกันเสนียดจัญไร  คุณไสยยาสั่ง  และการกระทำย่ำยี  ทั้งหลายทั้งปวงได้ชะงัดนักป้องกันภูตพรายได้ทุกชนิด